วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อากง

เปิดจดหมายนักโทษผู้ใกล้ชิด “อากง” ลำดับการจากไป ในวาระครบ 1 เดือน  

ผู้เขียน: ธันย์ฐวุฒิ หรือหนุ่ม ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ชื่อเรื่องเดิม: “จากเพื่อนร่วมชะตากรรมต่างวัย ถึงเพื่อนที่ล่วงลับจากไปชื่ออำพล”
เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักราษฎรประสงค์

ในวาระครบรอบ 1 เดือน (8 พ.ค.) การเสียชีวิตของนายอำพล หรือ อากง ‘ประชาไท’ ขอนำเสนอจดหมาย 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นของนักโทษคดีเดียวกันผู้คอยดูแลอากงมาแต่วันแรกของการอยู่ในเรือนจำ เขาเขียนเพื่อไว้อาลัยและต้องการให้โลกภายนอกได้รับรู้ลำดับอาการของชายชราผู้นี้ รวมทั้งนิสัยใจคอและความเป็นอยู่ที่ผ่านมา แม้จะสุ่มเสี่ยงและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะส่งเรื่องราวเหล่านี้ออกมา
อีกฉบับหนึ่งเป็นของอดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง ซึ่งพ้นโทษออกมาแล้วและเคยอยู่แดนเดียวกับอากง เขาสะท้อนถึงความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำของผู้ต้องขัง

 ---------------------------------
 หนุ่มแดงนนท์                          
8 พฤษภาคม 2555

“อำพล ตั้งนพกุล, อำพล ตั้งนพกุล ติดต่อที่ทำการแดนครับ ปล่อยตัว!!” เสียงประกาศผ่านไมค์ดังก้องไปทั่วแดน 8 ผมร้องขอให้เพื่อนช่วยประกาศให้เพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณของอากงให้เป็นอิสระ ท่ามกลางความแปลกใจ ตกใจ กับการจากไปอย่างกะทันหันของชายชราคนหนึ่ง ที่พวกเขาเห็นอยู่ทุกวัน ผม หมี สุริยันต์ ไมตี้ วุฒิชัย สายชล ทองสุข รวมถึงเพื่อนๆ ของอากง เดินเกาะกลุ่มกันไปยังประตูทางออกแดน 8 ที่เป็นประตูลูกกรงหนาแน่นบานใหญ่สูงตระหง่าน เราเปิดประตูทางออกแดนอย่างช้าๆ และต่างคนต่างกล่าวคำล่ำลากันให้กับอากง “บ๊ายบายนะอาเจ็ก ค่อยๆ เดินนะ เขาให้เจ็กกลับบ้านแล้ว ป้าอุ๊คอยอยู่ตรงโน้น เจ็กไปหาเขานะ !!” ผมกล่าวออกมาเหมือนเป็นการลาครั้งสุดท้ายในความว่างเปล่า และจินตนาการไปว่า เห็นอากงค่อยๆ เดินอย่างช้าๆ ไปทางประตู 4 ที่เป็นทางออกเรือนจำ
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อากงจากพวกเราไปเร็วขนาดนี้นะ เมื่ออาทิตย์ก่อนพวกเรายังใช้ชีวิตด้วยกันอยู่เลย นี่คือคำถามที่ผมอยากรู้มากๆ ในตอนนั้น มันไม่น่าเกิดขึ้นได้เลย มันไม่ควรเกิดขึ้นเลยจริงๆ

ลำดับเหตุการณ์ อาการป่วย ก่อนถึงวันจากไป

ผมกับอากงและเพื่อนๆ มักจะชวนกันออกกำลังกายด้วยกันทุกเช้า ผมกับอากงเราจะแกว่งมือด้วยกัน วันละประมาณ 15-30 นาที ก่อนกินข้าวเช้า ราวๆ ต้นเดือนเมษายน อากงมาบ่นให้ผมฟังว่าแกปวดท้องน้อยบริเวณเหนือสะดือ ค่อนไปทางซ้ายหรือขวาผมจำไม่ได้ ผมเลยคิดว่าอาการน่าจะปวดกล้ามเนื้อท้องเนื่องมาจากการออกกำลังกาย ผมจึงบอกให้อากงหยุดแกว่งแขวนไปก่อนจนกว่าจะหายปวด เพราะก่อนหน้านี้ราวๆ เดือนมกราคม ก็เคยมีอาการแบบนี้ หยุดแกว่งแขนก็หาย ครั้งนี้ก็คงเหมือนกับครั้งก่อนละมั้ง อากงจึงหยุดแกว่งแขนเพื่อรอดูอาการตั้งแต่วันนั้น
1 สัปดาห์ผ่านไป อากงยังคงมีอาการเจ็บอยู่ ผมจึงให้แกทำเรื่องออกสถานพยาบาลภายในเรือนจำ (พบ.) ในวันจันทร์, 23 เมษายน แต่วันนี้อากงไม่ได้รับการตรวจ เพราะช่วงเช้าทางสมาคมทนายความมาขอพบ และป้าอุ๊มาเยี่ยมพอดี จึงทำให้ต้องเลื่อนไปในวันถัดไป
อังคาร, 24 เมษายน อากงออก พบ.แต่เช้า แต่ไม่ได้รับการตรวจใดๆ อากงบอกว่า เขาถามว่าเป็นอะไร อากงก็ตอบว่าปวดท้อง พวกเขาก็บอกกลับได้ แล้วจะจัดยาไปให้ วันนั้นอากงก็กลับมาที่แดนและได้รับยา 1 ชุดในตอนเย็น ผมไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร แต่บอกว่าให้ลองกินดู ไม่หายค่อยทำเรื่องออกไปใหม่ ระยะนี้อากงก็มีลักษณะภายนอกเหมือนปกติทุกวัน กินข้าวได้ เดินเหินได้ปกติ
หลังจากกินยาชุดนี้ได้ 3-4 วัน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ยังคงเจ็บท้องอยู่ และมีอาการท้องใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และกดดูแล้วก็แข็ง เนื่องจากอากงเป็นคนมีพุงอยู่แล้ว เลยไม่มีใครคิดว่าเป็นอาการผิดปกติ ผมจึงทำเรื่องให้อากงออกไป พบ.อีกครั้ง ในวัน จันทร์,30 เมษายน อากงเล่าให้ฟังหลังจากกลับมาจาก พบ.ว่า วันนี้พวกเขาก็ทำเหมือนเดิม คือ ถามว่าเป็นอะไร แล้วก็ไล่กลับ แต่ครั้งนี้อากงทนไม่ไหวจึงโวยวายออกไปว่า “ตรวจอั๊วด้วยสิ อั๊วเจ็บท้องหลายวันแล้ว กินยาก็ไม่หาย ไม่ตรวจดูจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นอะไร !!” จึงทำให้อากงได้รับการตรวจ และเย็นนั้นจึงได้ยามาอีก 1 ชุด
หลังจากกินยาชุดที่สองนี้แล้ว อาการเจ็บท้องก็ยังไม่หาย และท้องก็ใหญ่ขึ้น ตึงขึ้น และแข็งมาก จนพี่สมยศทักอากงว่าเป็นอาการเกี่ยวกับตับหรือเปล่า? เพราะพี่สมยศเคยมีประสบการณ์กับโรคตับมาก่อน เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว อากงจึงเกิดอาการวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด จนอากงร้องไห้กับผมแล้วบอกว่า “ทำไมไม่หายซักที ผมแย่แล้ว ให้ผมตายเหอะ !!” พูดอยู่หลายครั้ง ผมจึงได้ปลอบใจว่าอากงไม่เป็นไรหรอกน่า เดี๋ยวอาทิตย์นี้ก็ไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว อดทนอีกหน่อยเถอะนะ พร้อมทั้งให้กำลังใจแกเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะข่าวการช่วยแร่งรัดขออภัยโทษให้แก และเพื่อนๆ คดี 112 ทั้งหมดที่ทางคุณอานนท์มาแจ้งให้เราทราบในวัน พุธ, 2 พฤษภาคม ในวันนี้คุณอานนท์ยังทักว่าอากงดูไม่ค่อยดี ผมจึงขอให้คุณอานนท์ช่วยแจ้งอาจารย์หวาน ช่วยประสานให้อากงออกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ (รพ.รท) โดยด่วน คุณอานนท์รับปากและได้ช่วยประสานงานให้ โดยเราเชื่อว่าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะมีหมอเก่งๆ ช่วยรักษาให้อากงหายเจ็บได้
พฤหัส, 3 พฤษภาคม อากงเริ่มมีอาการทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด และปฏิเสธโจ๊กที่พวกราสั่งซื้อให้แกกินอยู่ทุกวัน ผมจึงให้แกกินนมไวตามิลค์ เพื่อให้แกกินยา จากนั้นแกก็นอน อากาศเวลานั้นร้อนมากๆ ผมทายาหม่องให้แกที่หน้าอก หลัง คอ เพื่อให้หายใจสะดวก และคอยพัดให้แกอยู่เรื่อยๆ แกนอนรอป้าอุ๊มาเยี่ยมอย่างเช่นทุกวัน แต่วันนี้แปลกตรงที่ว่า พอมีเสียงประกาศเยี่ยมญาติของอากง ทุกทีแกจะรีบกุลีกุจอแทบจะวิ่งไปรับใบเยี่ยมญาติ แต่ครั้งนี้เราต้องพยุงแกขึ้นมา อากงหันมามองหน้าผม ทำเหมือนจะร้องไห้แล้วพูดว่า “หนุ่มไปด้วยนะ ไปกับผมด้วย ผมเดินไม่ไหว” ผมไม่เคยได้ยินคำพูดและน้ำเสียงแบบนี้ของแกมาก่อนตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันมาเกือบ 2 ปี ผมจึงขออนุญาตเจ้าหน้าที่ออกไปส่งแกที่จุดเยี่ยมญาติเพื่อพาแกมาหาป้าอุ๊ และผมได้กำชับแกโดยเขียนลงกระดาษให้แกบอกป้าอุ๊ว่าให้โทรบอกอาจารย์หวานเรื่องการส่งอากงไปโรงพยาบาลอีกครั้ง รวมถึงให้ป้าอุ๊ซื้อนมเปรี้ยวและผลไม้ที่ย่อยง่ายๆ ให้ด้วย เพราะอากงจะได้กินในช่วงที่ป่วยอยู่นี้
เยี่ยมเสร็จผมกับอากงได้เจอป้าอุ๊ไกลๆ ที่ช่องรับของฝาก ผมทำสัญลักษณ์มือที่กางนิ้วก้อยกับนิ้วโป้งและยกขึ้นข้างหู ให้ป้าอุ๊กับป้าน้อย (ภรรยาอาจารย์สุรชัย) เพื่อส่งภาษาใบ้ว่าอย่าลืมโทร (หาอาจารย์หวาน) ด้วยนะ ป้าอุ๊ก็พยักหน้าเข้าใจ แล้วผมก็ชี้นิ้วไปที่อากง แล้วโบกมือไปมาแทนความหมายว่า ไม่ต้องเป็นห่วง (อากง) นะ จากนั้นเราก็เดินกลับแดน
ใครจะรู้ว่าการพบกันในวันนั้นของอากงกับป้าอุ๊ จะเป็นการพบกันเป็นครั้งสุดท้ายของสามีภรรยาคู่นี้ที่ต่างเฝ้าประคับประคองจิตใจกันมาอย่างยาวนาน
เช้าวันศุกร์, 4 พฤษภาคม หลังจากอาบน้ำตอนเช้าด้วยกันแล้ว อากงก็หลบไปนอนในโรงอาหารอีก และไม่ยอมกินโจ๊กเหมือนเมื่อวาน ผมจึงปล่อยแกนอน โดยเตรียมนมไวตามิลค์ไวให้ วันนี้มีประกาศชื่ออากงให้ออกโรงพยาบาลราชทัณฑ์แต่เช้า ผมจึงดีใจเพราะวันนี้อากงจะได้ออกไปหาหมอเสียที เสียงประกาศชื่ออากงอีกครั้งเวลา 9.00 น. ผมปลุกแกให้ตื่นเพื่อให้แกกินนม และใส่เสื้อเพื่อเตรียมตัวไปโรงพยาบาล อากงกินได้ไม่ถึงครึ่งกล่องก็บอกว่ากินไม่ลงแล้ว ผมจึงพยุงแกลงมาจากโรงอาหาร ตอนนี้ผมสังเกตเห็นดวงตาของแกค่อนข้างเหลืองมาก ท้องก็ยังโตและแข็งอยู่เหมือนเดิม ผมขอให้อากงนั่งรถเข็นออกไปเพราะแกเดินไม่ไหวแล้ว อากงถูกเข็นออกไปอย่างช้าๆ และนี่เป็นภาพสุดท้ายที่ผมได้เห็นอากง โดยไม่เคยคิดว่าการจากกันครั้งนี้จะเป็นการจากกันตลอดไปโดยไม่ได้พบกันอีกเลย
ชายชราผู้ไม่จงรักภักดี ?
จากการพูดคุยกันตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยืนยันได้เลยว่าอากงไม่ใช่ทั้งเหลืองทั้งแดง ไม่สลิ่มด้วย แกเล่าให้ผมฟังว่าแกชอบไปตามงานชุมนุมต่างๆ เพราะสนุกดี และบางครั้งก็มีของให้กินฟรีๆ ด้วย แกเริ่มไปงานชุมนุมครั้งแรกก็คือชุมนุมพันธมิตร ที่แกยังได้รับแจกเสื้อเหลืองพร้อมลายเซ็นจำลอง ศรีเมือง ติดไม้ติดมืดกลับบ้านด้วย หลังจากนั้นก็ไปงานชุมนุมของเสื้อแดงที่แกก็ได้เสื้อแดง ผ้าโพกหัวกลับบ้านมา โดยไม่ต้องเสียเงินเช่นกัน อากงมักจะใช้เวลาหลังจากรับหลานๆ กลับจากโรงเรียน แล้วช่วยงานบ้านป้าอุ๊เสร็จแล้วค่อยไปงานชุมนุม เมื่อหายเบื่อแล้ว 2-3 ชั่วโมงก็นั่งรถกลับบ้าน
อากงไม่มีพื้นฐานความรู้ทางการเมืองใดๆ เลย อยู่บ้านทีวีเสื้อแดงก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเปิดดู หนังสือพิมพ์ก็ไม่อ่าน เพราะสายตาไม่ดี ลำพังแค่เลี้ยงหลานอย่างเดียวก็หมดเวลาแล้ว ดังนั้น เวลาพวกผมคุยกันเรื่องการเมืองแกจะตั้งใจฟัง แล้วมีคำถามมาถามเราอยู่บ่อยๆ
ที่น่าสนใจคือ กับข้อหาที่แกโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับการกระทำโดยธรรมชาติของแกมันขัดแย้งกันมาก เช่น แกจะยกมือไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงที่ตั้งอยู่ที่แดน 8 ทุกครั้งที่เดินผ่าน ผมแน่ใจว่าแกทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งเรื่องที่อากงเล่าให้ฟังว่า แกพาหลานๆ ของแกไปลงนามถวายพระพรในหลวงที่ศิริราชอยู่หลายครั้ง เวลาไปช็อปปิ้งกับหลานๆ แล้วเห็นโต๊ะที่เปิดให้มีการลงนามถวายพระพร ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อากงจะชวนหลานๆ ร่วมลงนามถวายพระพรทุกครั้ง ผมจึงแทบไม่เชื่อว่าชราคนนี้จะถูกกล่าวหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน
บุคลิกลักษณะภายนอกของอากง ใครเห็นก็จะรู้ว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ้มเก่งไหว้เก่ง และที่ชัดที่สุดคือ ร้องไห้เก่ง โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าอากงเป็นคนอ่อนแอทางจิตใจมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่แกถูกจับเข้ามาอยู่ในคุก แกยิ่งแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน ช่วงแรกที่อากงถูกจับเข้ามาและได้รับการประกันตัวออกไป แตกต่างจากครั้งที่แกถูกจับเข้ามาอีกครั้งมากในเรื่องกำลังใจ ผมว่าแกโชคดีที่มีพวกเราหลายคนคอยให้กำลังใจแกอยู่ตลอดเวลา นอกจากคนที่โดนคดีเสื้อแดงแล้วอากงยังได้รับความรักและเขาใจจากผู้ต้องขังอื่นๆ ด้วย เป็นเรื่องจริงที่ผมมักจะบอกกับอากงว่า แกเหมือนเป็นพวกแบตเตอรี่เสื่อม เวลาห่อเหี่ยว ท้อแท้ เราคุยให้กำลังใจแก แกก็จะกลับมายิ้ม และชูกำปั้น “สู้” ได้อีกครั้ง แต่พอผ่านไปไม่ถึงชั่วโมงแกก็จะนั่งหน้าเศร้าอีก เราเลยต้องชาร์จกันใหม่ๆ เรื่อยๆ ผลัดกัน ช่วยกันไป พวกเราต่างคิดว่าอากงเป็นญาติพี่น้องของเราจริงๆ ดังนั้น เราจึงดูแลกันด้วยดีตลอดมา
อากงจึงอยู่ในคุกได้ด้วยกำลังใจล้วนๆ กำลังใจหลักคือมาจากป้าอุ๊ รองลงมาคือจากพวกเรา เพื่อนๆ ที่อยู่ร่วมแดนกันและกำลังใจจากมวลชนที่แวะเวียนมาให้กำลังใจ นึกไม่ออกเลยว่า 4 วัน 4 คืนในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ขาดซึ่งกำลังใจใดๆ เลย อากงจะทนทุกข์ทรมานมากเพียงใด และเป็นไปได้หรือเปล่าที่สาเหตุของการจากไปอย่างกะทันหันของแก ส่วนหนึ่งมาจากการขาดกำลังใจ......
ความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางคนที่มอบให้กับอากง
โดยอ้างว่าตัวเอง “รักเจ้า”

ผมคิดอยู่หลายรอบว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือเปล่า ท้ายสุดก็คิดว่าควรต้องเขียน เพราะมันคือความจริงที่เกิดขึ้นกับอากง จากการตั้งใจกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางคนในช่วงที่ข้อหาล้มเจ้าของคนเสื้อแดงกำลังถูกโหมโรงจากสื่อกระแสนหลักอย่างกว้างขวาง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ หลายคนจึงตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน คือการโดนข่มขู่ ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ และถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา ไม่ยกเว้นชายชราหรือ “อากง” คนนั้น ซึ่งผมและสุริยันต์ คือหนึ่งในนั้นตามข่าวที่ปรากฏไปบ้างแล้วจากสื่อทางเลือก เรื่องนี้ผมจึงคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่คนภายนอกจะได้รู้ว่าอากงโดนปฏิบัติอย่างไรบ้าง (ผมขอรับผิดชอบในสิ่งที่ผมเขียนทุกคำ พร้อมให้ตรวจสอบ)
แต่ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ปัจจุบันแดน 8 เป็นแดนที่ดีที่สุด แตกต่างจากแต่ก่อนฟ้ากับเหว เพราะได้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าฝ่ายคนใหม่ที่เป็นนักพัฒนาที่มีความเป็นกลาง มีความยุติธรรมกว่าคนเดิมที่ผมจะเล่าถึงการกระทำของเขาที่กระทำต่ออากง ซึ่งมีเรื่องราวดังนี้
อากงถูกจำแนกเข้ามาที่แดน 8 ภายหลังที่ผมและสุริยันต์โดนทำร้ายร่างกายด้วยความตั้งใจของหัวหน้าฝ่ายคนเก่าไปแล้ว และนอกจากผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ จะโดนทำร้ายแล้ว ผู้ต้องหาคดีเสื้อแดงที่ตอนนั้นถูกจับเข้ามา ถ้าถูกจำแนกมาแดน 8 ก็จะโดนเก็บยอดทุกคนโดยการตบต่อยที่ใบหน้า ร่างกาย จากนักโทษที่ได้รับสัญญาณมา และถูกด่าอย่างหยาบคายว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แต่อากงโชคดีที่เป็นคนแก่จึงได้รับการยกเว้น ไม่ถูกประทุษร้ายทางร่างกาย แต่ถูกกลั่นแกล้งให้ทำงานอย่างหนักแทน
ด้วยภาพของอากงและวัยที่มากแล้ว โดยมนุษยธรรมและความเมตตา ควรได้รับการยกเว้นให้ทำงานอย่างคนหนุ่มเขาทำกัน แต่อากงคือผู้ที่ถูกเลือกด้วยความตั้งใจให้มาอยู่แดน 8 ของหัวหน้าฝ่ายคนก่อน (ที่ปัจจุบันย้ายไปประจำอยู่ใต้ถุนศาลรัชดา) เพื่อสะดวกในการทำอะไรบางอย่าง
วันแรกที่เข้ามาอากงถูกสั่งให้เข้าไปอยู่ในกองงานปั่นถ้วย และรับยอดเติมในทันที คือวันละ 5 กิโล หรือ 2,500 ใบ อากงทำไม่ได้แน่นอน แต่ก็ถูกบังคับให้ทำ จนผู้ต้องขังด้วยกันทนไม่ได้ต่างเข้ามาช่วยแบ่งงานอากงไปทำ คนละนิดคนละหน่อยจนเสร็จ อากงต้องทำงานอย่างนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งประกันตัวออกไปในครั้งแรก
อากงกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้หัวหน้าฝ่ายคนนี้คงเข็ดที่จะเอาคดี 112 มาไว้อีก อากงจึงถูกจำแนกไปแดน 3 โดยหวังว่าจะแยกผมออกจากอากง ปรากฏว่าด้วยความเหลือจากผู้ใหญ่ข้างนอกโดยผ่านคุณอานนท์ จึงทำให้อากงถูกย้ายมาอยู่แดน  8 กับผมอีกครั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหัวหน้าฝ่ายคนนี้อย่างมาก อากงจึงถูกคำสั่งให้ไปปั่นถ้วยอีก แล้วครั้งนี้ก็เหมือนเดิม ผู้ต้องขังก็ช่วยเหลืออากงเหมือนเดิม เพราะทนเห็นการถูกกลั่นแกล้งของหัวหน้าฝ่ายไม่ได้ ท้ายสุดแล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่โดยผ่านคุณอานนท์เช่นเดิม จึงมีคำสั่งสายฟ้าแลบให้ย้ายอากงมาอยู่กองงานห้องสมุด โดยไม่ต้องให้แกทำอะไรเลย งานนี้ทำให้หัวหน้าฝ่ายคนนี้เสียหน้าอย่างมากทีเดียว เพราะไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจอีกแล้วกับคนเสื้อแดง
หากการเสียชีวิตของอากง เลขาอภิสิทธิ์ ผู้พิพากษา ตำรวจผู้จับกุม ควรต้องรับผิดชอบแล้ว หัวหน้าฝ่ายควบคุมแดน 8 คนนี้ (ที่ไม่ใช่คนปัจจุบัน) ก็ควรต้องถูกประณามด้วยเช่นกัน
สุดท้ายนี้ ผมขอไว้อาลัยกับการจากไปของเพื่อนต่างวันของผมคนนี้ที่ผมรักและห่วงใยเสมือนญาติแท้ๆ ของผมคนหนึ่ง แน่นอนการจากไปของเขาจะต้องไม่เสียเปล่า ขอให้อากงหรืออาเจ็กที่ผมเรียก อย่าได้เป็นห่วงผมและเพื่อนๆ ทุกคนจะทำหน้าที่แทนอาเจ็กเองในการดูแลป้าอุ๊และหลานๆ ที่น่ารักของอาเจ็กให้มีความสุขตลอดไป และหากชาติหน้ามีจริงขอให้เราได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง...ผมรักเจ็กนะครับ!! ขอให้เจ็กหลับให้สบายและอย่าได้กังวลอะไรอีกเลย.


 



------------------------------------

ผู้เขียน: (ผู้เขียนขอสงวนชื่อนามสกุล)
เผยแพร่ครั้งแรก : เฟซบุ๊คของ Nithiwat Wannasiri

กระผม อดีตนักโทษชายเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้ร่วมชะตากรรมกับอากง ในเวลาที่ผมใช้ชีวิตในนั้น ได้เห็นการให้การรักษาพยาบาลในเรือนจำ ซึ่งจะมียาวิเศษอยู่หนึ่งตัว ชื่อ พาราเซตาม่อน ซึ่งยาขนานนี้ใช้รักษาโรคได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ปวดท้อง ท้องเสีย หรือแม้กระทั่งเบาหวานหรือโรคหัวใจ
ซึ่งหลังจากขึ้นเรือนนอนแล้ว ถ้านักโทษเจ็บป่วย อาการหนัก รับรองได้ว่า รุ่งเช้าจะได้ยินเสียง"ประกาศปล่อยตัว"อย่างเช่นอากงแน่นอน ซึ่งการปล่อยตัวจะเป็นไปอย่างพิเศษมากๆ คือคุณไม่ต้องเดิน แต่ต้องลอยตามกลิ่นธูปออกมา
ในช่วงที่กระผมได้อยู่ในเรือนจำนั้น เคยมีนักโทษสูงอายุ น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับอากง แกเป็นคนใต้ แกป่วยอยู่หลายโรค ซึ่งหลังจากขึ้นเรือนนอนแล้ว ประมาณสองทุ่มกว่าๆ ได้มีเสียงเคาะ ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีคนป่วยอยู่ในห้อง ซึ่งอาการของลุงคนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหอบหืดหรือว่าโรคหัวใจ ซึ่งกว่าที่ผู้คุมจะขึ้นมาก็ประมาณ 10 นาที และก็ให้ยาพาราเป็นขั้นแรก หรือว่าก็ให้รอหมอแป๊บหนึ่ง ก็ประมาณ 30 - 60 นาที แต่พอหมอมาถึง คุณลุงคนนั้นก็ได้เสียชีวิตแล้ว แต่ผมไม่แน่ใจ ว่าเป็นผู้คุมหรือหมอ ที่ออกปากถามว่า ตายหรือยัง ทั้งๆที่ยังไม่ถึงประตูห้อง
คุณลุงคนนี้ถูกขังอยู่ที่ห้อง 10 ซึ่งห้อง 10 จะอยู่ชั้น 2 แต่ผมอยู่ชั้น 3 จึงมองไม่เห็น ซึ่งห้องเบอร์ 10 นี้ คุณก่อแก้ว และคุณขวัญชัย ก็เคยอยู่ ถ้าคิดจะออกไปพบหมอ ถ้าเป็นชาวต่างด้าว หรือบุคคลไร้ญาติ ก็ยากหน่อย ก็จะได้คำตอบว่า "กินพารา เดี๋ยวก็หาย" เมื่อมาถึงหมอ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือ ถ้าคุณไม่ได้ถูกหามออกมาในสภาพหมดสติ ก็หมดสิทธิที่จะนอนรอดูอาการ ก็ต้องกลับไปนอนซมอยู่ในแดนตามเดิม
นี่หรือ ที่คุณบอกว่ามาตรฐานไม่ต่างกัน...?

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

อุปสงค์และดุลยภาพ

อุปสงค์ (Demand)               อุปสงค์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Demand หมายถึง ความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการ ณ ระดับราคาต่าง ๆ ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่
โดยอุปสงค์จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1. ความต้องการที่จะซื้อ หรือ Willing to buy
2. ความสามารถในการจ่ายเพื่อซื้อ หรือ ability to pay
              กฎของอุปสงค์คือ “หากกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่ อุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าจะลดลง เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นหรือสูงขึ้น และอุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าจะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าถูกลง”
              จากความสัมพันธ์ดังกล่าว   โดยปกติ   เส้นอุปสงค์ จึงมีลักษณะที่ลาดลงจากซ้ายไปขวา (Downward slope) และมีความชันของเส้นเป็นค่าลบ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการซื้อสินค้ากับราคาในทิศทางตรงกันข้าม แสดงเป็นตารางอุปสงค์ได้ดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และราคาสินค้า


<> <>
ราคา (บาท/หน่วย)10090807060 5040
อุปสงค์/ความต้องการ 305070 98115 150 180




            จะสังเกตเห็นว่า ความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน คือ เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น ความต้องการหรืออุปสงค์ก็ลดน้อยลง ซึ่งเมื่อนำมาแสดงในรูปของกราฟ จะเป็นดังรูปที่ 1 และเมื่อนำอุปสงค์ของแต่ละคนมารวมกัน ก็จะเป็นอุปสงค์ของตลาด ณ ระดับราคาต่าง ๆ
รูปที่ 1 เส้นอุปสงค์
 

ปัจจัยที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์ได้แก่
1. ราคาของสินค้า เมื่อราคาแพงขึ้น ความต้องการจะลดลง
2. รายได้ของผู้บริโภค กล่าวคือ ในกรณีที่เป็นสินค้าปกติ (Normal goods) เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรายได้เพิ่มขึ้น แล้วผู้บริโภคซื้อสินค้านั้นลดลง แสดงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ (Inferior goods) เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งอันที่จริงอาจจะไม่ได้หมายถึง คุณภาพของสินค้าจริงๆ ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ดี แต่เป็นเรื่องของการรับรู้ของผู้บริโภคแต่ละคนที่อาจมีมุมมองแตกต่างกันไป เช่น ถ้ารวยขึ้นก็ไม่อยากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาจหันไปกินอย่างอื่น เช่น ไก่ทอด แทน เป็นต้น
3. ราคาสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
              • สินค้าที่ใช้ทดแทนกัน    เช่น    กรณีเมื่อหมูราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคจะบริโภคหมูลดลง ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็อาจจะหันไปบริโภคไก่ หรือ ปลา หรือสัตว์น้ำอื่น ๆ แทน
              • สินค้าที่ใช้ประกอบกัน    เช่น    กรณีที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น ความต้องการซื้อรถยนต์ก็จะลดน้อยลงด้วย เป็นต้น
4. รสนิยมของผู้บริโภค เช่น หากรสนิยมในการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้ความต้องการสินค้าที่เคยใช้อยู่เปลี่ยนแปลงไป
5. การคาดการณ์รายได้ในอนาคต เช่น หากผู้บริโภครู้ว่าจะได้มีการปรับขึ้นเงินเดือน ก็อาจจะบริโภคล่วงหน้าไปก่อน ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าสูงขึ้น
6. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ฤดูกาล จำนวนประชากร ฯลฯ


การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์              หากเกิดจากราคาของสินค้านั้นๆ  เอง (ปัจจัยกำหนดอุปสงค์ข้อ 1.) การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบนเส้นอุปสงค์เส้นเดิม (Move along the demand curve) แต่หากเกิดปัจจัยอื่น โดยที่ราคาของสินค้านั้น ๆ คงที่ การเปลี่ยนแปลงจะเลื่อนเส้นอุปสงค์ไปทางซ้าย หรือทางขวาของเส้นเดิมทั้งเส้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามากระทบว่าจะส่งผลทางใด (Shift in demand curve) ดังแสดงในรูปที่ 2 เช่น หากรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะได้รับโบนัส แม้ราคาสินค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นยัง 60 บาทเท่าเดิม แต่ผู้บริโภคก็สามารถซื้อได้เพิ่มขึ้นจาก 120 หน่วย เป็น 170 หน่วย (จากเส้น D1 เป็นเส้น D2 ในรูปที่ 2) เป็นต้น


รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงเส้นอุปสงค์ แบบเลื่อนไปทั้งเส้น จากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา
 



           อุปทาน (Supply)
           อุปทานในวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Supply หมายถึง ความต้องการจะขายสินค้าหรือบริการของผู้ขาย ณ ระดับราคาต่าง ๆ ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่
          โดยอุปทานจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่
          1. ความต้องการที่จะขาย หรือ Willing to sell
          2. ความสามารถในการผลิต หรือ ability to produce
          กฎของอุปทานคือ “หากกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่ อุปทานหรือความต้องการขายสินค้าจะลดลง เมื่อราคาสินค้าถูกลง และอุปทานหรือความต้องการขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น”
          จากความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยปกติ เส้นอุปทาน จึงมีความชันของเส้นเป็นค่าบวก ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการขายสินค้ากับราคาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงเป็นตารางอุปทานได้ดังนี้


ตารางที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานและราคาสินค้า    

<> <>
ราคา (บาท/หน่วย)10090807060 5040
อุปสงค์/ความต้องการ 270240200170  14011070






จะสังเกตเห็นว่า ความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางที่เดียวกัน กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น ความต้องการจะขายหรืออุปทานก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อนำมาแสดงในรูปของกราฟ จะเป็นดังรูปที่ 3 โดยเมื่อนำอุปทานของผู้ขายแต่ละรายมารวมกัน ก็จะเป็นอุปทานของตลาด ณ ระดับราคาต่าง ๆ


รูปที่ 3 เส้นอุปทาน
 


ปัจจัยที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงในอุปทานได้แก่1.    ราคาของสินค้า เมื่อราคาแพงขึ้น ความต้องการขายก็มากขึ้นด้วย
2.    ราคาของปัจจัยการผลิตหรือต้นทุนการผลิต เช่น หากต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้นเพราะราคาน้ำมันแพงขึ้น แต่ราคาสินค้าที่นำไปวางขายไม่เปลี่ยนแปลง จะทำให้ผู้ผลิตอยากขายสินค้าในปริมาณที่น้อยลง เพราะได้กำไรน้อยลง
3.    ราคาสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีที่ราคาสินค้าอื่นแพงขึ้น อาจมีผลทำให้อุปทานของสินค้าชนิดที่ผลิตอยู่ลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เมื่อราคาข้าวโพดแพงขึ้น คนที่เคยปลูกมันสำปะหลังอยู่ อาจหันไปปลูกข้าวโพดแทน และลดการปลูกมันสำปะหลังลง ซึ่งผลทำให้อุปทานของมันสำปะหลังสูงขึ้น ขณะที่อุปทานของข้าวโพดลดลง เป็นต้น
4.    เทคโนโลยีในการผลิตสินค้า เช่น หากมีการคิดค้นเทคโนโลยีในการผลิตให้ดีขึ้น ทำให้ผลิตได้ปริมาณสินค้ามากขึ้นด้วยต้นทุนเท่าเดิม จะทำให้ปริมาณการเสนอขายสินค้าเพิ่มขึ้นได้
5.    การคาดการณ์ในอนาคต เช่น หากผู้ผลิตหรือผู้ขายคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ก็เสนอขายสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
6.    ปัจจัยอื่น เช่น ฤดูกาล ภาษีและเงินอุดหนุน จำนวนผู้ขาย และโครงสร้างตลาดสินค้า ฯลฯ


             การเปลี่ยนแปลงของอุปทาน             จะเกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกันกับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ กล่าวคือ หากเกิดจากราคาของสินค้านั้นๆ  เอง (ปัจจัยกำหนดอุปทานข้อ 1.) การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบนเส้นอุปทานเส้นเดิม (Move along the supply curve) แต่หากเกิดปัจจัยอื่น โดยที่ราคาของสินค้านั้น ๆ คงที่ การเปลี่ยนแปลงจะเลื่อนเส้นอุปทานไปทางซ้าย หรือทางขวาของเส้นเดิมทั้งเส้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามากระทบว่าจะส่งผลทางใด (Shift in supply curve) ดังแสดงในรูปที่ 4 เช่น หากต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตสูงขึ้น ณ ระดับราคาขายสินค้าที่เท่าเดิม ผู้ขายจะเสนอขายสินค้าในปริมาณที่ลดลง เช่น ณ ระดับราคาสินค้า 60 บาทเท่าเดิม แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงทำให้เส้นอุปทานเลื่อนไปทางซ้ายของเส้นเดิมทั้งเส้น จาก S1 ไปยัง S2 แสดงถึงผู้ขายต้องการขายสินค้าน้อยลงจาก 140 หน่วย เหลือ 80 หน่วย เป็นต้น


รูปที่ 4 การเปลี่ยนแปลงเส้นอุปทาน แบบเลื่อนไปทั้งเส้น จากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา
 


            ดุลยภาพ (Equilibrium price and output)
               จากที่ได้กล่าวมาแล้วถึงความต้องการซื้อ และความต้องการขายสินค้า ณ ระดับราคาต่าง ๆ ของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ระดับดุลยภาพ ก็คือ ระดับราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายเห็นพ้องต้องกัน หรือระดับราคาที่อุปสงค์เท่ากับอุปทาน หรือเส้นอุปสงค์ตัดกับเส้นอุปทาน


รูปที่ 5  แสดงเส้นอุปสงค์ อุปทาน และระดับดุลยภาพ 


                 จากรูปแสดงให้เห็นถึงระดับดุลยภาพที่ความต้องการซื้อและความต้องการขายเท่ากันพอดี (เส้น D ตัดกับเส้น S ณ จุด E) โดย ณ ราคาสินค้า 60 บาทต่อหน่วย ผู้ซื้อและผู้ขายมีความต้องการสินค้าที่ 120 หน่วย
                ทั้งนี้ จุดที่ราคาสูงกว่าราคาดุลยภาพ จะเกิดอุปทานส่วนเกิน (Excess supply) และจะมีการปรับตัวเข้าสู่ราคาดุลยภาพ
                ส่วนจุดที่ราคาอยู่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพ จะเกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess demand) และจะมีการปรับตัวสู่ราคาดุลยภาพ 

สรุป บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาตร์

สรุป บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์

1)       ความหมายของเศรษฐศาสตร์: เศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเลือกหนทางในการใช้ปัจจัยการผลิตอันมีอยู่จำกัด  สำหรับการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์

2)       ทรัพยากรการผลิต (Productive Resources): แบ่งได้ 2 ประเภท คือ (1) สิ่งที่คนสร้างขึ้น (Man-Made Resources) และ (2) เกิดเองโดยธรรมชาติ (Natural-Made Resources)

3)       ปัจจัยการผลิต (Productive Factors): แบ่งได้ 4 ประเภท คือ (1) แรงงาน (Labor: ค่าแรง) (2) ที่ดินและทรัพยากรณ์ธรรมชาติ (Land and Natural Resources: ค่าเช่า) (3) ทุน (Capital: ดอกเบี้ย) และ (4) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur: กำไร)
โดยในระบบทุนนิยม ผู้ประกอบการจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ริเริ่มการผลิตและเป็นผู้รวบรวมปัจจัยการผลิตอื่นๆ นอกจากนั้นยังเป็นผู้วางนโยบายและตัดสินใจในทุกขั้นตอนการผลิต ดูรูปที่ 1

รูปที่ 1: ความสัมพันธ์ของทรัพยากรณ์การผลิต

4)       สินค้าและบริการ (Goods and Services):  แบ่งได้ 2 ประเภท คือ (1) เศรษฐทรัพย์ (Economic Goods) และ (2) ทรัพย์เสรี (Free Goods)

เศรษฐทรัพย์มี ต้นทุน การผลิต แต่ทรัพย์เสรีไม่มี

5)       ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ:  แบ่งได้ 3 ปัญหา คือ (1) ผลิตอะไร (What), (2) ผลิตอย่างไร (How), และ (3) ผลิตเพื่อใคร (For Whom) ดูรูปที่ 1 และ 2 ประกอบ

5.1) ผลิตอะไร: เพราะทรัพยากรมีจำกัด การเลือกใช้ไปในทางใดจะมีค่าเสียโอกาสเสมอ (Opportunity Cost) โดยทั่วไปจะเลือกใช้ไปในทางที่มีค่าเสียโอกาสต่ำสุดเสมอ
5.2) ผลิตอย่างไร: การใช้เทคโนโลยีเปลี่ยน input(s) ให้เป็น output(s)
เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (Efficiency) คือ เทคโนโลยีที่ใช้ input(s) น้อยกว่าวิธีอื่น แต่ให้ output(s) เท่ากับวิธีอื่น หรือ   เทคโนโลยีที่ใช้ input(s) เท่ากับวิธีอื่น แต่ให้ output(s) มากกว่าวิธีอื่น (ทั้งสองแนวคิดมีวิธีการคำนวณต่างกันแต่ให้ผลเหมือนกัน)
5.3) ผลิตเพื่อใคร: เป็นการกระจาย (Allocation) สินค้าและบริการที่ผลิตได้ หรือ ทรัพยากร ไปสู่ประชาชนหรือผู้บริโภค ถ้าการกระจายสินค้าและบริการไม่เป็นธรรม จะเกิดปัญหาความไม่เสมอภาค (Equity)

รูปที่ 2: ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

6)       ระบบเศรษฐกิจ: ระบบเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ (1) แบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม (Capitalism or Liberalism) (2) แบบวางแผน (Planned Economy) และ (3) แบบผสม (Mixed Economy)

การพิจารณาว่าประเทศหนึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใด สามารถพิจารณาอย่างคร่าวๆได้จาก 2 สิ่งหลัก คือ (1) เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้หรือไม่ และ (2) เอกชนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยเสรีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ไม่ประเทศนั้นน่าที่จะมีระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน แต่ถ้า ใช่ประเทศนั้นน่าที่จะมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม



ระบบเศรษฐกิจ
ลักษณะสำคัญ
ข้อดี
ข้อเสีย
แบบทุนนิยม
(เอกชนคือใครก็ได้ที่ไม่ใช่รัฐบาล)
1.เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
2.ใช้กลไกราคา และการแข่งขันโดยเสรีแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
3.เอกชนมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ใช้กำไรหรือความพอใจเป็นตัวตัดสิน)
4.รัฐไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ (แต่ดูแลให้เกิดกลไกตลาด)
ถ้าเอกชน (นายทุน) มีคุณธรรมจริยธรรม หรือผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ขัดกับส่วนรวม
1.กำไรเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการพัฒนา
2.ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าเอกชน (นายทุน) ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม หรือผลประโยชน์ส่วนตัวขัดกับส่วนรวม
1.ใช้ทรัพยากรไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม
2.เกิดความเลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้และการถือทรัพย์สิน
แบบวางแผน
1.รัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต(และทรัพย์สิน)ทั้งหมด
2.รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (รัฐบาลเป็นผู้วางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ)
1.มีเสถียรภาพ
2.ไม่มีความเลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้และการถือทรัพย์สิน
1.ขาดประสิทธิภาพในการผลิต (คนไม่มีแรงจูงใจ) ไม่เกิดการพัฒนา (หรือเกิดแต่ช้า)
2.ใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ
แบบผสม
ผสมระหว่างแบบทุนนิยมและแบบวางแผน ขึ้นอยู่กับให้ความสำคัญรูปแบบใดมากกว่า
1.รัฐและเอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
2.ใช้กลไกราคา และการแข่งขันโดยเสรีแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่รัฐสามารถแทรกแซง และวางแนวทางการดำเนินการทางเศรษฐกิจ (เช่น แผนพัฒนาฯ) ได้

ผสมระหว่างแบบทุนนิยมและแบบวางแผน ขึ้นอยู่กับให้ความสำคัญรูปแบบใดมากกว่า

ผสมระหว่างแบบทุนนิยมและแบบวางแผน ขึ้นอยู่กับให้ความสำคัญรูปแบบใดมากกว่า




ดูรูปที่ 3 และ 4 ซึ่งอธิบายระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและกลไกที่ใช้แก้ปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และดูรูปที่ 5 และ 6 ซึ่งอธิบายระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนและกลไกที่ใช้แก้ปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน





รูปที่ 3: ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม



รูปที่ 4: การใช้กลไกราคาในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม




รูปที่ 5: ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน




รูปที่ 6: การใช้กลไกของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ




7)       การแก้ปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจ ดูรูปที่ 4 และ 6 ที่อธิบายถึงกลไกการแก้ปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและแบบวางแผน ตามลำดับ


ระบบเศรษฐกิจ
เครื่องมือแก้ปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจ
แบบทุนนิยม
กลไกราคาหรือกลไกตลาด (Price or Market Mechanism) (รูปที่ 4)
แบบวางแผน
วางแผนจากส่วนกลาง (รูปที่ 6)
แบบผสม
ใช้กลไกราคาร่วมกับวางแผนจากส่วนกลาง (เช่น ประเทศไทย)



8)       วิชาเศรษฐศาสตร์: แบ่งเป็น 2 สาขาหลัก คือ (1) เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) และ (2) เศรษฐศาสตร์มหาภาค (Macroeconomics)

8.1) เศรษฐศาสตร์จุลภาค: เป็นการศึกษาหน่วยย่อยของระบบเศรษฐกิจซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ผลิต (Producers) และ ผู้บริโภค (Consumers) โดยใช้ทฤษฎีของผู้ผลิตและของผู้บริโภคในการศึกษาตามลำดับ นอกจากนี้ เราจะใช้กลไกตลาดร่วมในการศึกษาถึงลักษณะการปฎิสัมพันธ์ของทั้งสองหน่วยย่อย
8.2) เศรษฐศาสตร์มหาภาค:  เป็นการศึกษาเศรษฐกิจทั้งระบบ เช่น รายได้ประชาชาติ ระดับราคาสินค้าและบริการ การออมและการบริโภคของประเทศ การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุน การนำเข้าและส่งออก และการจ้างงาน เป็นต้น

9)       หน่วยเศรษฐกิจ (Economic Units): ประกอบด้วย 3 หน่วย คือ (1) ครัวเรือน (Household) (2) หน่วยธุรกิจ (Firms) และ (3) รัฐบาล (Government)
9.1) ครัวเรือน: เป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการ (ทำให้เกิดอุปสงค์ในตลาดสินค้าและบริการ) แต่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ทำให้เกิดอุปทานในตลาดแรงงาน)
9.2) หน่วยธุรกิจ: เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการ (ทำให้เกิดอุปทานในตลาดสินค้าและบริการ) แต่เป็นผู้ซื้อปัจจัยการผลิต (ทำให้เกิดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน)
9.3) รัฐบาล: ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันของเอกชนให้เป็นไปโดยเสรี และดูแลทุกข์สุขของประชาชน
ลักษณะการปฎิสัมพันธ์ของทั้ง 3 หน่วยดูได้ในรูปที่ 7